“ประสบการณ์ชมนิทรรศการก่อนอ่านข้อมูล” เป็นคำแนะนำที่ผู้เขียนมักให้แก่ผู้ที่มาถามไถ่ว่าดูงานศิลปะอย่างไรดี นั่นคือพฤติการณ์ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นงานนามธรรม เสน่ห์ของศิลปะนามธรรมคือการสื่อสารโดยตรงกับผู้ชม กระนั้นสารได้มีการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ครั้งที่ได้ดู ได้สัมผัส … ดังนั้น ชมนิทรรศการนี้ด้วยใจที่เปิดโล่ง ย่อยปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับผลงานด้วยตัวเอง และหากต้องการการแนะแนวเล็กน้อย อ่านบทความนี้แล้วจะได้บทสนทนาระหว่างผู้ชมกับผลงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง แน่นอนว่าศิลปะกระทบทุกคนแตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความรู้ แม้แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผลงาน และความสัมพันธ์กับศิลปิน
จิรัชยา พริบไหว ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงที่มาของงานชุดนี้ว่าเกิดขึ้นเมื่อเธอได้ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นเช้าวันหนึ่งระหว่างทริปที่ไปบุโรพุทโธ (Borobudur) สภาพแวดล้อมของยามเช้าตรู่และเสียงที่ผสมผสานกันทำให้เกิดวาบความทรงจำประเดประดังเข้ามา ดังนั้นเมื่อศิลปินได้ระลึกถึงเหตุการณ์นั้น เธอจึงหยิบเครื่องมือของเธอขึ้นมาและเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ในตอนนั้นจิรัชยาไม่ได้นึกถึงผลลัพธ์ของผลงานที่จะปรากฏออกมา แค่เพียงแสดงออกถึงสิ่งที่วาบขึ้นมาในความคิดในตอนนั้น ที่ตรงนั้น
แม้ว่ากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของจิรัชยามักถูกเชื่อมโยงกับการรักษาหรือการบำบัด (therapeutic) เช่นในงานวาดเส้นชุดอื่นของเธอก็เชื่อมโยงกับภาวะอัตโนมัติ (automatism) และการมีสมาธิจดจ่อ (concentration) สำหรับงานชุดนี้ ศิลปินได้เล่าเรื่องผ่านความเคลื่อนไหวของเครื่องมือทางศิลปะ เชื่อมโยงจิตใจและตัวตนผ่านการแสดงทางศิลปะ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงศิลปะบำบัด (art therapy) ผู้คนมักนึกถึงศิลปะที่มีจุดประสงค์ในการรักษาอาการป่วยทางจิตเวช, PTSD, ความพิกลพิการ และอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานศิลปะของจิรัชยาได้พิสูจน์ให้เห็นอีกมุมหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว ศิลปะดำรงอยู่เพื่อความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์อยู่แล้ว ศิลปะถูกสร้างสรรค์ขึ้นผ่านการแสดงออกส่วนตัวเพื่อตนเอง และ/หรือผู้อื่น ‘เสียงสะท้อนแห่งความทรงจำ’ แสดงออกถึงการสื่อสารที่เปิดเผยโดยสัญชาตญานที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งศิลปินสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการบำบัดที่ผ่อนคลายผสมผสานความเข้มข้นในบางครั้ง
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสถึงเมื่อได้พบศิลปินครั้งแรกคือเธอเป็นคนที่โรแมนติกและอ่อนไหว อีกทั้งยังเป็นคนช่างสังเกต ในแรกเห็น ผลงานของจิรัชยามักได้ถูกเชื่อมโยงกับทิวทัศน์, ธรรมชาติ, หรือแม้แต่ความอีโรติก (erotica) อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกขึ้นและดูหลาย ๆ ผลงานโดยรวมแล้วไม่เป็นอย่างที่กล่าวมา ทว่ามีความเป็นธรรมชาติ (organic) และการตีความแบบบทกวี ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นผลจากการปฏิบัติและกระบวนการของศิลปิน
ผลงานส่วนใหญ่ของจิรัชยา เช่นผลงานชุดนี้ จะเป็นสีขาวดำหรือเป็นสีเดียว (ศิลปินทำงานสีสันบ้าง แต่จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับงานทั้งหมด) แต่ในขณะเดียวกัน เธอเป็นคนที่เต็มไปด้วยสีสัน ในที่นี้คือเป็นคนที่นำความเบิกบานและรอยยิ้มให้คนรอบข้าง เธอทะนุถนอมธรรมชาติในสวนส่วนตัวที่เลือกพืชพันธุ์หลากหลาย หรือว่าแท้จริงแล้วเราควรกลับไปตีความการรับรู้สีขาวดำของเราใหม่ว่ามีความสดใสเทียบเท่าผลงานศิลปะที่มีหลากหลายสีหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าความเคลื่อนไหวและจังหวะที่แสดงอยู่บนผลงานกระดาษเหล่านี้ ได้ปลุกอารมณ์ความรู้สึกของผู้ดูให้สว่างขึ้น เมื่อมองเห็นสีสันที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า ผู้ชมจะสามารถเข้าใจความตั้งใจที่หลากหลายของศิลปินได้ ในความเป็นจริงแล้ว งานของจิรัชยาไม่จำเป็นต้องมีคำมากมายประกอบ ผู้เขียนได้ยินเสียงสะท้อนทั้งดังและเบาจากความทรงจำของศิลปินปรากฏขึ้นในผลงานศิลปะไร้เสียงเหล่านี้ แล้วคุณล่ะ?