โอรังซิแย / ออแฆนายู

นราธิวาสเป็นเมืองเล็ก ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งแม่น้ำติดกับชายแดนมาเลเซีย รายล้อมไปด้วยทะเลและภูเขาที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน เดิมในภาษามลายูถูกเรียกว่าเมอนารา หมายถึงประภาคารหรือหอคอยที่ปากน้ำ

27 พฤศจิกายน 2564 – 30 มกราคม 2565

Art4C

ปรัชญ์ พิมานแมน

กดที่ภาพเพื่อดู VR Tour

นราธิวาสเป็นเมืองเล็ก ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งแม่น้ำติดกับชายแดนมาเลเซีย รายล้อมไปด้วยทะเลและภูเขาที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน เดิมในภาษามลายูถูกเรียกว่าเมอนารา หมายถึงประภาคารหรือหอคอยที่ปากน้ำ คนไทยพุทธออกเสียงว่าบางนรา หมู่บ้านเมอนาราเคยขึ้นกับเมืองสายบุรี ต่อมาถูกโอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ ภายหลังเมื่อชุมชนขยายตัวใหญ่ขึ้นจึงย้ายศาลาว่าการเมืองระแงะมาตั้งที่หมู่บ้านเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองนี้จากเมอนาราเป็นนราธิวาสซึ่งหมายถึง “ที่อยู่ของคนดี” เมืองนราธิวาสสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันบอบช้ำ ผู้คนจึงโอบกอดความเป็นมลายูไว้อย่างเหนียวแน่น จนยากที่จะยอมรับความแตกต่างหรือความเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ทั้งนี้ นราธิวาสยังเป็นเมืองหนึ่งที่ปรัชญ์ใช้ชีวิตและเติบโตขึ้น

“โอรัง” และ “ออแฆ” ในภาษามลายู หมายถึง “ผู้คน” มักใช้แทนคำนำหน้าเพื่อบ่งบอกถึงพื้นถิ่น เช่น คนไทย (สยาม/ซิแย) หรือ คนมลายู (นายู) นิทรรศการ ออรังซิแย / ออแกนายู จึงเป็นการตั้งคำถามถึงนิยามความเป็น “มลายู” และ ความเป็น “ไทย” จากประสบการณ์ตรงของปรัชญ์ซึ่งครอบครัวต้องโยกย้ายไปมาระหว่างนราธิวาสและกรุงเทพฯ ผ่านการเติบโตและเก็บเกี่ยวเรื่องราวจากทั้งสองภูมิภาคซึ่งเขาอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ความรู้สึกถึงความแปลกแยกจากการใช้ภาษาในการสื่อสารที่ผิดแผกออกไปตั้งแต่วัยเด็กยังคงส่งผลให้เกิดภาพของคนต่างจังหวัดที่พูดไทยไม่ชัดและคนไทยที่พูดภาษามลายูไม่ชัดในปัจจุบัน จึงเสมือนกับว่าเขาถูกผลักให้เป็นคนชายขอบและถูกตัดสินให้เป็นคนนอกมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความโหยหาและพยายามเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมนั้น ๆ แบบขาด ๆ เกิน ๆ ยิ่งไปกว่านั้น โดยทั่วไปคนต่างจังหวัดยังมักถูกผลักให้เป็นกลุ่มคนชายขอบภายใต้บริบทของสังคมเมือง จึงกล่าวได้ว่าปรัชญ์ได้กลายเป็นคนชายขอบของชายขอบอีกทีหนึ่ง ทั้งในแง่การสื่อสารที่ต่างกันและความเหลื่อมล้ำทางสังคมทำให้เขาไม่ได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในวัฒนธรรมนั้น ๆ จึงเกิดการตั้งคำถามต่อสภาวะความเป็นคนใน/คนนอก โดยเฉพาะความเป็นมลายูที่ใช้ภาษาเป็นตัวแปรบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ทว่าการให้ความสำคัญต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และประสบการณ์การเติบโตในดินแดนมลายูจะสามารถบ่งบอกถึงความเป็นมลายูหรือไม่เป็นมลายูได้จากมุมมองใด 

นิทรรศการ ออรังซิแย / ออแกนายู ประกอบด้วย ผลงานภาพยนตร์ทดลอง มาแกแต ซึ่งเป็นคำมลายูท้องถิ่นหมายถึงการชักชวนมาดื่มน้ำชา เป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมร่วมของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ บอกเล่าเรื่องราวฝังใจจากการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ผลงานเสียงจัดวางเกิดจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้คนใกล้ตัวและนักวิจัยเกี่ยวกับความเป็นมลายู ผลงานประติมากรรมจัดวางแสดงถึงความต่างของใบชาหลากชนิดจากหลายแหล่งที่มา การผสมผสานกันของใบชาเพื่อหวังในรสชาติมากกว่าความเป็นหนึ่งเดียว จงใจตั้งคำถามปลายเปิดสำหรับผู้คนในสังคม ว่าด้วยการค้นหาความกลมกล่อมของแต่ละตัวตนจากภายใน

ปัจจุบัน ปรัชญ์ พิมานแมน เป็นศิลปินอิสระอาศัยและทำงานในจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ก่อตั้ง/ผู้อำนวยการ หอศิลป์ร่วมสมัย เดอลาแป เมืองนราธิวาส และอาจารย์ประจำวิชาเอกออกแบบประยุกต์ศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี